เงินตราอีสาน อีกหนึ่งประเภทของรูปแบบเงินโบราณ ที่ใช้กันในท้องถิ่น อย่างภาคอีสาน เป็นเงินตราแลกเปลี่ยน ที่ในปัจจุบันจัดเป็นของเก่าโบราณ ที่นักสะสมหลายๆ ท่านตามหา
เงินตราอีสาน คืออะไร
เงินตราอีสาน หรือ เงินอีสาน เป็นเงินตราโบราณ ที่มีมาตั้งแต่สมัยอดีต นิยมใช้กันใน 2 อาณาจักรฝั่งโขง อย่าง ภาคอีสานบ้านเรา และฝั่งประเทศลาว โดยค่าเงินนั้น จะคิดตามน้ำหนัก และเนื้อเงิน หากมีน้ำหนักมาก และเนื้อเงินบริสุทธิ์ ก็จะมีมูลค่ามาก [1]
ทำไมถึงเรียก เงินตราอีสาน
เงินตราอีสาน เป็นเงินที่ชาวบ้าน หรือราษฎรคนอีสานใช้กันในท้องถิ่น เนื่องจาก ประเทศไทยในสมัยอดีตนั้น ยังไม่ได้รวมกันเป็นปึกแผ่น และแต่ละภูมิภาค แต่ละพื้นที่ ต่างก็มีเจ้าเมืองเป็นของตนเอง ทำให้เงินชนิดดังกล่าวนี้ เป็นเงินที่ใช้ และถูกเรียกตามภูมิภาคนั่นเอง
เหตุใดในบางบันทึกประวัติศาสตร์ เงินตราอีสาน ถึงไม่มีการพูดถึง
เงินตราอีสาน เดิมทีก็เป็นเงิน ที่ใช้สำหรับซื้อ - ขายกัน ในท้องถิ่นเท่านั้น และภายหลังดินแดนสยาม หรือประเทศไทย ในสมัยโบราณ ก็ได้ร่วมกันเป็นทองแผ่นเดียว บวกกับมีการใช้ เงินพดด้วง ตามแผ่นดิน
ทำให้ผู้คนส่วนมาก ร้อยละ 90% ก็จะรู้จัก เงินตราในรูปของ เงินพดด้วงมากกว่า แต่ถึงอย่างนั้น เงินอีสาน หรือเงินตรา ประจำท้องถิ่นแม่น้ำโขง ก็ยังคงมีชื่อ และมีบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์ เฉกเช่นเดิม
เงินตราอีสาน มีกี่ประเภท
เงินตราประจำท้องถิ่นอีสาน ที่นิยมใช้กันในสมัยนั้น มีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิด คือ เงินฮาง เงินฮ้อย เงินตู้ และเงินปลีก หรือเงินลาด แต่ภายหลัง เหลือเพียงแค่ เงินฮาง และเงินฮ้อย
เงินฮาง
เงินฮาง หรือเงินราง มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ เงินแท่ง ” มีลักษณะเป็นเหมือนรูป 4 เหลี่ยมผืนผ้า คล้ายรางใส่หญ้าม้า หัว - ท้าย มีความงอนเล็กน้อย ทำจากเนื้อเงินบริสุทธิ์แท้ 100% มีขนาด กว้าง 3.10 ซม. ยาว 11.68 ซม. น้ำหนัก 381.30 กรัม และหนา 1.35 ซม.
ด้านบนเป็นพื้นผิวเรียบ มันวาว ไม่มีลวดลาย ด้านล่างตอกประทับตราอักษรจีน และเครื่องหมายตีนกา โดยมีน้ำหนักและมูลค่า ได้แก่ น้ำหนัก 6 ตำลึง หรือ 6 สลึง เท่ากับ 25 บาท 2 สลึง แต่หากซื้อสินค้าราคาไม่ถึง 25 บาท 2 สลึง จะใช้เป็นเงินบาท สลึง หรือเฟื้อง เป็นเงินทอนแทน [2]
** ปัจจุบันจัดเป็นของเก่าโบราณ หายาก ที่มีมูลค่าสูง โดยราคาประเมินคร่าวๆ ในปี 2564 โดยคณะกรรมการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ของกรมธนารักษ์ อยู่ที่ 20,000 บาท ต่อแท่ง [3]
เงินฮ้อย
เงินฮ้อย หรือที่ภาคกลางเรียกกันว่า เงินร้อย เป็นเงินตราอีสาน ที่ทำจากเนื้อเงิน ทองแดง หรือทองเหลือง เป็นส่วนประกอบหลัก มีหัว - ท้ายเรียวยาว คล้ายรูปวงรี หรือเรือ พื้นผิวมีปุ่ม หรือสัญลักษณ์ ที่ตอกประทับไว้ โดยแบ่งออกเป็น 2 สัญลักษณ์ คือ
- ตราจักร [4]
มีขนาด กว้าง 1.72 ซม. ยาว 9.52 ซม. น้ำหนัก 62.68 กรัม และหนา 0.62 ซม. พื้นผิวเรียบ มีปุ่ม ด้านบนตอกตราสัญลักษณ์ ตราจักร 3 ตรา ปัจจุบันจัดเป็นของเก่าโบราณ หายากเช่นกัน โดยมีราคาประเมินคร่าวๆ ในปี 2564 อยู่ที่ 5,000 ต่อแท่ง
- ตราพญานาค [5]
มีขนาด กว้าง 2.40 ซม. ยาว 10.80 ซม. น้ำหนัก 102.13 กรัม และหนา 0.68 ซม. พื้นผิวเรียบ มีปุ่ม และด้านบนตอกประทับตราสัญลักษณ์เช่นกัน แต่เป็น ตราคล้ายกับรูปพญานาค จำนวน 3 ตรา ปัจจุบันหายาก และมีราคาในท้องตลาดสะสมของเก่า สูงกว่าเงินฮ้อยตราจักร โดยราคาประเมินคร่าวๆ ในปี 2564 อยู่ที่ 7,000 บาทต่อแท่ง
สรุป เงินตราอีสาน
เงินตราอีสาน หรือ เงินอีสาน เป็นเงินตราซื้อ - ขาย ที่ใช้ในโบราณอดีต โดยจะใช้กันในทางภาคอีสานทั้งหมด และแถบลุ่มแม่น้ำโขง หรือประเทศลาวบางส่วน
อ้างอิง
[1] ทางอีศาน. (October 31, 2019). เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา. Retrieved from e-shann
[2] ศิลปวัฒนธรรม. (June 19, 2023). เงินฮาง-เงินฮ้อย เงินตราโบราณที่ใช้กันในภาคอีสาน และลุ่มแม่น้ำโขง. Retrieved from silpa-mag
[3] กรมธนารักษ์. (September 15, 2021). เงินฮางหรือเงินราง. Retrieved from treasury
[4] กรมธนารักษ์. (September 15, 2021). เงินฮ้อย (ตอกประทับตราจักร). Retrieved from treasury
[5] กรมธนารักษ์. (September 15, 2021). เงินฮ้อย (ตอกประทับตราพญานาค). Retrieved from treasury