หน่อไม้ พืชผักประกอบอาหาร เมนูโปรดของใครหลายคน ก็มักเป็นอาหารคาว ที่มีหน่อไม้อยู่ด้วย หลายคนชอบกินเพราะมีสัมผัสกรุบกรอบ เคี้ยวเพลิน แถมรสชาติอร่อยเฉพาะตัว กินแล้วเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่หารู้ไม่ว่า? หน่อไม้นั้นมีสารพิษอันตราย กินอย่างไรให้ปลอดภัย มาทำความรู้จักกัน
รู้จักพืชใต้ดินเน้นการขุดกับ หน่อไม้
หน่อไม้ (Bamboo Shoot) หรือเรียกว่า หน่ออ่อน หน่อของต้นไผ่ที่แตกเหง้าใต้ดิน โดยมีหลากหลายสายพันธุ์ ถิ่นกำเนิดในเขตร้อน ของทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยมบริโภคเป็น ผักพื้นถิ่น ตามรูปแบบอาหารเอเชีย วางจำหน่ายทั้งแบบสด แบบแห้ง และ แบบอาหารกระป๋อง [1]
หน่อ ไม้ กินแล้วอันตรายจริงหรือ
หน่อไม้สดจากชนิด Bambusa Valgaris ลักษณะผิวสีเหลืองอ่อน แบ่งเป็นหลายชั้น สารอาหารประกอบด้วย ไทอามีน ไนอาซิน วิตามิน A, B6, E และ กรดอะมิโนรวม 17 ชนิด โดยในกรดอะมิโน 8 ชนิด มีความจำเป็นกับร่างกายของมนุษย์ แต่ปริมาณกรดในหน่อไม้กระป๋อง และหน่อไม้หมักดอง จะค่อนข้างน้อยกว่า
นอกจากสารอาหารดี หน่อไม้ดิบยังมีสารไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารพิษตามธรรมชาติ สะสมอยู่ในมันสำปะหลังเช่นกัน เป็นอันตรายกับมนุษย์ โดยสารพิษจะต้องถูกกำจัดออก ด้วยการต้มน้ำเพื่อขับพิษก่อน แต่ทั้งนี้อาหารของ แพนด้ายักษ์ คือไม้ไผ่ดิบ เนื้อเยื่อของร่างกายสัตว์ สามารถกำจัดสารพิษได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น มนุษย์ควรหลีกเลี่ยง การกินหน่อไม้ดิบ เพราะหากได้รับในปริมาณมาก สารพิษจะจับตัวกับสารในเม็ดเลือดแดง แทนที่ของออกซิเจน ส่งผลให้เกิดอาการ ขาดออกซิเจนทันที หมดสติ และอาจทำให้เสียชีวิต แนะนำควรต้มในน้ำเดือด อย่างน้อย 10 นาที เพื่อลดปริมาณสารพิษได้มากถึง 90.5% [2]
วิธีการต้มป้องกันสารพิษในอาหาร
การรับประทานหน่อไม้ จะได้คุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ให้พลังงานค่อนข้างน้อย โดยหน่อไม้สด 100 กรัม ให้พลังงานเพียง 30 กิโลแคลอรี จำเป็นต้องผ่านน้ำและความร้อน ก่อนปรุงอาหาร เพื่อป้องกันเชื้อโรคปนเปื้อน และลดปริมาณสารพิษในอาหาร มีวิธีการดังนี้
- หน่อไม้ดิบ ล้างน้ำให้สะอาด นำมาต้มจนสุก ในน้ำเดือดประมาณ 20 – 30 นาที จำนวน 1 ครั้ง
- หน่อไม้ดอง ใช้เวลาต้มเพียง 15 – 20 นาที จำนวน 2 ครั้ง จึงสามารถนำมาประกอบอาหารได้
หน่อไม้ ผักคนไทยนิยมหาซื้อง่ายในตลาด
หน่อไม้ในเอเชีย มีมากกว่า 1,250 ชนิด แต่บริโภคได้เพียงไม่กี่ชนิด ซึ่งจะมีระดับสารพิษไซยาไนด์แตกต่างกันไป บางชนิดอาจพบว่ามีมากถึง 8,000 มิลลิกรัม / กิโลกรัม โดยชนิดที่ใช้บริโภค พบสารพิษเฉลี่ย 1,000 มิลลิกรัม / กิโลกรัม โดยคนไทยก็รู้จัก วิธีกำจัดสารพิษอย่างดี ทั้งยังมีราคาถูกตามท้องตลาดทั่วไป
ประโยชน์และข้อควรระวัง
รวมสรรพคุณดีต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ และข้อควรระวัง ในการรับประทาน ดังต่อไปนี้
- บำรุงสุขภาพลำไส้ : พืชที่มีใยอาหารสูง จะช่วยปรับระบบการทำงาน ของลำไส้ให้เป็นปกติ และมีส่วนช่วยลดความเสี่ยง การเกิดโรคริดสีดวงทวาร โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ และ โรคมะเร็งลำไส้
- ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด : จากใยอาหารชนิดละลายน้ำ (Soluble Fiber) จะช่วยให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง รวมถึงคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีอีกด้วย
- ควบคุมน้ำหนัก : พืชที่ให้พลังงานต่ำ จึงเหมาะกับคนที่กำลังควบคุมน้ำหนัก ทั้งยังมีใยอาหาร ที่ช่วยให้ร่างกายรู้สึกอิ่มเร็ว อยู่ท้องได้นานมากขึ้น
ข้อควรระวัง : ควรรับประทานแบบ ผ่านความร้อนเท่านั้น ควรหลีกเลี่ยงการซื้อหน่อไม้ ที่บรรจุอยู่ในถุงหรือปี๊บ เพราะว่าอาจมีสารพิษปนเปื้อน ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษโบทูลิซึม และหน่อไม้มีสารพิวรีนค่อนข้างสูง จะทำให้กรดยูริกในร่างกายสูงขึ้น ผู้ป่วยโรคเก๊าท์และโรคไต จึงควรทานในปริมาณเหมาะสม [3]
สารพัดเมนูจาก หน่อไม้
บอกต่ออาหารไทยรสเด็ด เมนูของหน่อไม้ทำง่าย นิยมทำเป็นอาหารคาว ไม่ว่าจะเป็น ยำหน่อไม้ แกงหน่อไม้ใบย่านาง แกงส้มหน่อไม้ดอง แกงหน่อไม้หวาน ผัดกะเพราหน่อไม้หมูสับ แกงเขียวหวานไก่หน่อไม้ แกงจืดหน่อไม้กระดูกหมู หน่อไม้ดองผัดวุ้นเส้น เป็นต้น
แต่หากหน่อไม้ใช้ทำอาหาร มีรสชาติขม ต้องทำอย่างไร? สามารถกำจัดรสชมได้ง่าย ๆ หลายวิธี เช่น การต้มกับน้ำตาลทราย (ประมาณ 30 นาที), การต้มใส่ มะเขือพวง (ต้มนาน 50 นาที), การต้มหลังจากขยำเกลือ (รอจนเดือดแล้วตักขึ้น) และวิธีสุดท้ายกับ การต้มกับเกลือ (ต้มนานจนสุก)
สรุป หน่อไม้ “Bamboo Shoot”
หน่อไม้ หน่ออ่อนของต้นไผ่ จากแหล่งกำเนิดเขตร้อน ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผักสวนครัวหาซื้อได้ง่าย รับประทานกันแบบหน่อสด หน่อแห้ง และหน่อดองรูปแบบกระป๋อง มีทั้งสารอาหารจำเป็นกับร่างกาย และสารพิษอันตราย ไม่ควรกินดิบ ควรต้มสุกก่อนปรุงอาหารเสมอ
อ้างอิง
[1] wikipedia. (July 5, 2024). Bamboo Shoot. Retrieved from wikipedia
[2] linetoday. (June 23, 2022). เช็คความเชื่อเรื่องหน่อไม้. Retrieved from today.line.me
[3] pobpad. (2022-2024). หน่อไม้กับประโยชน์และข้อควรระวัง. Retrieved from pobpad