ผักพื้นถิ่น พืชและสมุนไพรตามภูมิภาค มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งกลิ่น สีสัน และรสชาติ ผักหลากหลายชนิดที่สามารถหากินง่าย กินคู่กับข้าว น้ำพริก หรือเนื้อสัตว์ยิ่งอร่อย จึงนิยมนำมาทำอาหาร หรือเมนูเพื่อสุขภาพ เพราะมีคุณประโยชน์มากมาย รวมถึงสรรพคุณทางยาอีกเพียบ
เกร็ดความรู้สุขภาพกับ ผักพื้นถิ่น
ผักพื้นถิ่น (Local Vegetables) พืชพรรณผักพื้นเมือง ที่ชาวบ้านนิยมนำมาบริโภค ประกอบอาหาร โดยเกิดในแหล่งธรรมชาติ ทั้งป่าเขา และหนองน้ำ เดิมทีในประเทศไทย มีผักท้องถิ่นเป็นจำนวนมากถึง 255 ชนิด ซึ่งมีชื่อแตกต่างกันตามภูมิภาค สามารถปลูกง่าย เจริญเติบโตได้ดี และมีคุณค่าทางโภชนาการหลายชนิด
ข้อดีผักพื้นเมือง สามารถรับประทานได้ตั้งแต่ราก เหง้า ยอด ใบ ดอก ผล และเมล็ด ไม่ต้องปลูกบ่อยหรือดูแลเป็นพิเศษ เพราะบางชนิดแตกหน่อ หรืองอกใบขึ้นใหม่ได้เลย เป็นพืชผักหมุนเวียนกินได้ทั้งปี และใช้เป็นยาสมุนไพร ยารักษาโรคหรือบรรเทาอาการต่าง ๆ ทั้งยังมีราคาถูก และหาซื้อง่ายในท้องตลาด [1]
สรรพคุณจากรสชาติอาหาร
ผักและสมุนไพร ที่หาได้ง่ายตามธรรมชาติ มักถูกนำมาประกอบอาหาร เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยจะให้รสชาติ และสรรพคุณแตกต่างกัน ตามทฤษฎีแพทย์แผนไทย ดังต่อไปนี้
- รสชาติฝาด : ช่วยสมานแผล แก้อาการท้องร่วง และบำรุงธาตุในร่างกาย
- รสชาติหวาน : การทำงานดูดซึมอาหารดีขึ้น ช่วยบำรุงกำลัง และแก้อาการอ่อนเพลีย
- รสชาติเผ็ดร้อน : แก้อาการท้องอืด จุกเสียดแน่นท้อง และช่วยขับลม
- รสชาติเปรี้ยว : ช่วยขับเสมหะ และเป็นยาระบายแบบอ่อน ๆ
- รสสัมผัสหอมเย็น : ช่วยบำรุงหัวใจ และร่างกายสดชื่น
- รสชาติมัน : เป็นยาอายุวัฒนะ และช่วยบำรุงเส้นเอ็น
- รสชาติขม : ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงโลหิต และช่วยเรื่องระบบขับถ่ายดี
ที่มา: ผักพื้นบ้านที่ต้องรู้จัก [2]
ผักพื้นถิ่น เลือกอย่างไรให้ปลอดภัย
หลายคนอาจสงสัย ต้องเลือกผักแบบไหน ถึงจะปลอดภัยห่างไกลจากสารพิษ โดยมีวิธีการเลือก 5 แบบด้วยกัน คือ 1. เลือกกินผักตามฤดูกาล (ช่วยลดความเสี่ยงของการใช้ปุ๋ย และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช), 2. เลือกกินผักริมรั้วบ้าน หรือตามธรรมชาติ (เป็นผักแข็งแรง ไม่มีโรคแมลง และไม่มีการใช้สารเคมี)
3. เลือกล้างผักเพื่อลดสารพิษ (จะช่วยลดสารเคมีได้ 29 – 95% ตามกระบวนการล้างต่าง ๆ), 4. เลือกอ่านฉลากก่อนซื้อ (สำหรับผักที่มีฉลาก และเครื่องหมายรับรอง) และวิธีสุดท้าย เลือกผักที่ปลูกเอง (จากการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผักที่ปลอดภัย เพื่อบำรุง และป้องกันโรคจากแมลง) [3]
ผักพื้นถิ่น รวมพืชพรรณสมุนไพร 4 ภาค
ผักที่น่าจะเคยเห็น และเคยได้ยินชื่อกันมาตั้งแต่เด็ก มาจากแต่ละภูมิภาคของไทย ประกอบอาหารได้หลากหลายเมนูแสนอร่อย ทั้งอาหารคาวและเครื่องดื่ม เราจะพามารู้จักกับผักทั้ง 8 ชนิด จากภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ มีผักอะไรน่าสนใจและน่ากินบ้าง
ผักท้องถิ่นภาคกลาง-ภาคเหนือ
- ผักโขม (Spinach) : ผักพื้นเมืองประจำภาคกลาง จากทวีปเอเชียกลางและตะวันตก พืชเติบโตง่าย ให้รสชาติหวานไม่ขม สรรพคุณลดความอ้วน กระตุ้นการขับถ่าย และต้านโรคมะเร็ง
- กระเจี๊ยบแดง (Roselle) : ผักพื้นเมืองประจำภาคกลาง แหล่งกำเนิดในทวีปแอฟริกาตะวันตก ปลูกง่ายเติบโตดี รสชาติหวานอมเปรี้ยว สรรพคุณแก้หวัด ขับเสมหะ นิยมทำเครื่องดื่มดับร้อน
- มะระขี้นก (Bitter Melon) : ผักพื้นเมืองประจำภาคเหนือ จากทวีปแอฟริกา ผิวขรุขระมีรสขม สรรพคุณทางยาต้านโรคเบาหวาน และโรคไต กินได้ตั้งแต่รากจนถึงผล ทั้งผลสดและผลแห้ง
- มะเขือพวง (Turkey Berry) : ผักพื้นเมืองประจำภาคเหนือ แหล่งกำเนิดในทวีปอเมริกากลางและใต้ กระจายทั่วเขตร้อน นิยมทำอาหารแบบผลสุก สรรพคุณต้านเชื้อไวรัส และบรรเทาอาการไข้หวัด
ผักท้องถิ่นภาคอีสาน-ภาคใต้
- กระชาย (Galingale) : ผักพื้นเมืองประจำภาคอีสาน พบมากในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปลูกง่ายในกระถาง สรรพคุณทางยาแผนโบราณ ลดความดันโลหิต และทำอาหารกับเครื่องดื่มเย็น
- หน่อไม้ (Bamboo Shoot) : ผักพื้นเมืองประจำภาคอีสาน ถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยมใช้ทำอาหารทั้งแบบสด แห้ง และหมักดอง สรรพคุณบำรุงลำไส้ และลดระดับคอเลสเตอรอล
- ขมิ้นชัน (Turmeric) : ผักพื้นเมืองประจำภาคใต้ พบมากในอนุทวีปอินเดียและเอเชีย ใช้เป็นยาแผนโบราณจีน ทำอาหารใต้ และอาหารอินเดีย สรรพคุณแก้ปัญหาลำไส้ และกระเพาะปัสสาวะ
- ผักตบชวา (Water Hyacinth) : ผักพื้นเมืองประจำภาคใต้ ถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ เติบโตดีในแหล่งน้ำเขตร้อน มักใช้ทำยาและอาหาร สรรพคุณแก้พิษ ขับลม และผลิตภัณฑ์แปรรูปมากมาย
สรุป ผักพื้นถิ่น “Local Vegetables”
ผักพื้นถิ่น พืชผักสมุนไพรหลายชนิด จากทั้ง 4 ภาค ใช้ทุกส่วนของผักบริโภคเป็นอาหาร ให้รสชาติแตกต่างกัน สีสันหลากหลาย และกลิ่นเฉพาะตัว รวมถึงใช้เป็นยาแผนโบราณ สำหรับบรรเทาอาการ รักษาโรค สามารถปลูกกินเองได้ในบ้าน หรือเลือกซื้อผักปลอดสาร เหมาะกับคนชอบกินผักตัวจริง
อ้างอิง
[1] lib. (November 10, 2005). ผักพื้นบ้านของดีที่ถูกลืม. Retrieved from lib.ru.ac.th
[2] sgethai. (2023-2024). ผักพื้นบ้านที่ต้องรู้จัก. Retrieved from sgethai
[3] rakbankerd. (August 5, 2019). เลือกผักแบบไหนปลอดภัยไร้สารพิษ. Retrieved from rakbankerd