กระชาย พืชพรรณสมุนไพรมาแรงในยุคโควิด ไม่แพ้กับฟ้าทะลายโจร เพราะมีฤทธิ์ช่วยต่อต้านเชื้อโรค และเชื้อไวรัสได้เป็นอย่างดี หลายคนน่าจะอยากหามารับประทาน ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาง่ายมาก ทำเป็นอาหารก็อร่อย เพิ่มความเผ็ดร้อน หรือทำเป็นเครื่องดื่มก็สดชื่น แถมปลูกง่าย ๆ ได้เองที่บ้าน
แนวทางความรู้ผักยอดฮิต กระชาย
กระชาย (Galingale) พืชและสมุนไพรคล้ายกับข่า หนึ่งในเครื่องเทศมีเหง้าเขตร้อน มีกลิ่นหอม นิยมปลูกในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ กระชายดำ กระชายแดง และกระชายเหลือง (กระชายขาว) ถูกนำมาประกอบอาหารเอเชียแบบดั้งเดิม และมีสรรพคุณทางการแพทย์ [1]
คำอธิบายลักษณะ กระชาย
พืชไม้ล้มลุกแบบไม่มีลำต้นบนดิน โดยเป็นพืชมีเหง้าใต้ดิน แตกรากออกไปจำนวนมาก เหมือนกับ ข่า ขิง และ ขมิ้นชัน ลักษณะส่วนกลาง จะพองกว่าส่วนหัวและท้าย รูปร่างเรียวยาว และตรงกลางด้านในก้าน มีดอกและช่อ เป็นกลีบดอกสีขาว สีชมพูอ่อน หรือสีม่วง ซึ่งดอกย่อยจะบานเพียง 1 ดอก / ครั้ง
ลักษณะเด่นของลำต้น มีความสูง 9 เซนติเมตร ส่วนใบมีกลิ่นหอม ความยาวใบ 30 – 35 เซนติเมตร ความกว้างใบ 7 – 9 เซนติเมตร ส่วนผล มีผลแก่ทั้งหมด 3 พู โดยมีเมล็ดอยู่ด้านใน แต่เมื่อผลแก่เต็มที่จะไม่แตก และส่วนรากกับเหง้า นิยมนำมาปรุงแต่งอาหาร ให้รสชาติเผ็ดร้อน และขมเล็กน้อย
วิธีปลูกและขยายพันธุ์ง่ายในบ้าน
การปลูกและขยายพันธุ์ สามารถทำได้ 2 วิธี คือ ปลูกด้วยต้นและเหง้า โดยหัวกระชายที่ดี ต้องมีอายุ 7 – 9 เดือน ควรแช่น้ำยาป้องกันเชื้อรา และสารป้องกันแมลงในดินก่อนปลูก เป็นเวลา 30 นาที จากนั้นนำไปปลูกในดินร่วน พื้นที่มีแดดส่องรำไร และมีความชื้นสูง แนะนำปลูกในช่วง เดือนพฤษภาคม – เดือนธันวาคม
วิธีปลูกลงกระถาง ตัดหัวหรือเหง้าให้ติดราก 2 – 3 ราก ทาปูนแดงที่รอยแผลถูกตัด แล้วนำไปตากในร่มจนกว่าปูนจะแห้ง จากนั้นนำเหง้าไปแช่น้ำ 2 คืน ควรเตรียมไว้ 3 – 5 หัว / กระถาง หลังจากนั้นนำดินมาตากแดดนาน 7 วัน แล้วเอาไปผสมกับปุ๋ยคอก อัตราดิน 2 ส่วน / ปุ๋ยคอก 1 ส่วน
เสร็จแล้วนำกระถางมาใส่ดิน ปริมาณ 3 ใน 4 ส่วนของกระถาง และนำเหง้ากระชายปลูกได้เลย โดยต้องกลบหน้าดินด้านบน ด้วยดินอีกชั้นให้ทั่ว พร้อมรดน้ำให้ชุ่ม ตลอดระยะเวลา 1 เดือน จะเริ่มแตกใบอ่อนและงอก สามารถเก็บเกี่ยวได้ หลังจากปลูกไปแล้ว 7 – 8 เดือน
รวมข้อมูล กระชาย ผักสมุนไพรไทยรักษาโรค
กระชายนับว่าเป็น ผักพื้นถิ่น ที่มีคุณประโยชน์ดีกับร่างกาย มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยโบราณ จนได้ขึ้นชื่อในวงการแพทย์แผนไทย ว่าเหมือนกับ “โสมไทย” เพราะทั้งช่วยบำรุงร่างกายและสมอง สามารถเป็นยาได้ทั้งภายในและภายนอก ใช้ได้ตั้งแต่รากเหง้า หากนำไปทำอาหาร ยิ่งเพิ่มรสอร่อย กลิ่นหอมมากขึ้นด้วย
รวมประโยชน์ทางยาและโทษ กระชาย
คุณประโยชน์ดีกับร่างกาย โดยเน้นเป็นสรรพคุณทางยาแผนไทย ดังต่อไปนี้
- บำรุงธาตุในร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ
- เสริมสร้างกำลัง และสมรรถภาพทางเพศ
- แก้อาการลมวิงเวียน และอาการแน่นหน้าอก
- บำรุงหัวใจ และบำรุงกระดูก ไม่ให้เปราะบางได้ง่าย
- ปรับสมดุลของความดันโลหิต ในร่างกายให้เป็นปกติ และลดความดันโลหิตสูง
นอกจากนี้ยังช่วยบำรุงเส้นผมให้ดกดำ แก้ปัญหาผมร่วง ช่วยกระตุ้นให้เลือดเลี้ยงสมอง ลดการอักเสบเรื้อรัง ช่วยแก้โรคริดสีดวง และโรคบิด ซึ่งในกระชายขาว มีสารประกอบสำคัญ คือ Pandulatin A และ Pinostrobin ช่วยลดจำนวนเซลล์ติดเชื้อ และยับยั้งการผลิตไวรัสอีกด้วย
สำหรับโทษจากกระชาย หากกินในปริมาณมากเกินไป สารสกัดในกระชาย จะทำให้เลือดหนืด อาจส่งผลต่ออาการป่วย หรือโรคต่าง ๆ อาจทำให้รู้สึกหมดแรง และอ่อนเพลีย หากผู้มีปัญหาสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภค เพราะสารสกัดจากกระชาย อาจส่งผลร้ายกับสุขภาพได้เช่นกัน [2]
กระชาย ทำเมนูอะไรได้บ้าง?
บอกต่อเมนูอาหารแสนอร่อย รสชาติดีจากกระชาย สามารถปรุงอาหารได้หลายเมนู โดยเฉพาะเมนูแกงและผัด โดยส่วนที่นิยมนำมาทำอาหารมากที่สุด จะเป็นส่วนรากสะสมอาหาร เรียกว่า “นมกระชาย” เพราะมีกลิ่นหอมมาก และช่วยดับกลิ่นคาวเนื้อสัตว์ได้ดี มีเมนูน่ากินดังนี้
- แกงเขียวหวานปลาดุก : ปลาดุก พริกแกงใต้ หัวและหางกะทิ พริกชี้ฟ้าสดเขียว กระชายสดซอยบาง ใบมะกรูดฉีกฝอย ใบโหระพา พริกไทยสด พริกขี้หนูสด และ มะเขือพวง
- แกงป่ากระดูกหมู : กระดูกหมูอ่อน น้ำพริกแกงป่า มะเขือเปราะ กระชายซอย ข้าวโพดอ่อน พริกไทยอ่อน และใบกะเพรา
- หมูเด้งผัดฉ่า : หมูเด้ง พริกไทยอ่อน กระชายหั่นซอย ใบมะกรูด ใบกะเพรา พริกขี้หนู และกระเทียม
- ปลานิลต้มกระชาย : ปลานิล กระชายทุบ กระเทียม ผักชี พริกจินดา พริกขี้หนู และเห็ดหอม
- น้ำกระชายสกัดเย็น : กระชายหั่นท่อน ประมาณ 1 นิ้ว ใส่ในเครื่องปั่นพร้อมดื่ม
- น้ำกระชาย น้ำผึ้งมะนาว : กระชายหั่นเป็นชิ้นเล็ก นำไปปั่นให้ละเอียด และกรองเอาเนื้อกระชายออก 2 – 3 รอบ จากนั้นผสมกับน้ำต้มที่เย็นแล้ว เติมน้ำผึ้ง มะนาว และเกลือตามต้องการ
ที่มา: ทำความรู้จักกระชาย สรรพคุณของกระชาย [3]
สรุป กระชาย “Galingale”
กระชาย พืชไม้ล้มลุกชนิดมีเหง้าใต้ดิน นิยมใช้รากแหละเหง้า สำหรับประกอบอาหารคาว หรือเครื่องดื่ม และเป็นยาตามแพทย์แผนไทย ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วยรักษาโรค ต้านเชื้อไวรัส และอาการป่วย ทั้งยังปลูกเป็นพืชสวนครัวง่าย ๆ ได้เองแบบไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะ
อ้างอิง
[1] wikipedia. (September 9, 2024). Galangal. Retrieved from wikipedia
[2] sgethai. (2023-2024). กระชายสรรพคุณมากมาย ต้านโควิดได้หรือไม่?. Retrieved from sgethai
[3] trueid. (May 20, 2021). ทำความรู้จักกระชาย สรรพคุณของกระชาย. Retrieved from food.trueid